พระอาจารย์เจ้า ผู้ชื่อว่าโรคามฤตินทร์ ผู้เป็นอาจารย์ของชีวกโกมารภัจจ์ และท่านมหาเถรผู้ชื่อว่าตำแย ได้แต่งคัมภีร์ไว้เพื่อให้แพทย์ทั้งหลายรู้ไว้สืบต่อไป ดังจะกล่าวต่อไปนี้
สัตว์ทั้งหลายเมื่อจะตั้งมูลปฏิสนธินั้น ต้องประกอบพร้อมด้วยบิดามารดาและธาตุทั้ง ๔ คือ ปถวีธาตุ ๒๐ อาโปธาตุ ๑๒ วาโยธาตุ ๖ เตโชธาตุ ๔ ระคนกันเข้ามิได้วิปริต แล้วตามโลหิตแห่งมารดาก็บังเกิดตั้งขึ้นเป็นอนุโลมปฏิสนธิ เมื่อสัตว์จะปฏิสนธินั้นท่านกล่าวว่า สุจุมังปะระมานูละเอียดนัก เปรียบด้วยขนทรายจามจุรีเส้นหนึ่ง เอามาชุบน้ำมันงาที่ใสนั้น แล้วเอามาสลัดเสียให้ได้ ๗ ครั้ง เหลือติดอยู่ที่ปลายขนทรายจามจุรีมากน้อยเท่าใด อันมูลปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งหลาย สุขุมละเอียดดุจดังนั้น เมื่อตั้งขึ้นในครรภ์มารดาแล้วละลายไปได้ วันละ ๗ ครั้ง กว่าจะตั้งขึ้นได้เป็นอันยากนัก เมื่อตั้งขึ้นได้แล้ว ๗ วัน ก็บังเกิดเป็ปฐมกะละละ เรียกว่าไชยเภท คือมีระดูล้างหน้าทีหนึ่งก็รู้ว่าครรภ์ตั้งขึ้น เมื่อครรรภ์ตั้งขึ้นแล้วมิได้วิปริตครบ ๗ วัน ก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ ต่อไปอีก ๗ วัน ก็เป็นชิ้นเนื้อ ต่อไปอีก ๗ วันก็เป็นสัณฐานดังไข่งู ต่อไปอีก ๗ วันก็แตกออกเป็นปัญจสาขา ๕ แห่ง คือศรีษะ ๑ มือ ๒ จึงเป็น ๕ ต่อไปอีกวัน ก็เกิดเกศา โลมา นขา ทันตา ลำดับกับไปดังนี้ ในขณะครรภ์ตั้งขึ้นได้หนึ่งเดือนกับ ๑๒ วันนั้น โลหิตจึงบังเกิดเวียนเข้าเป็นตานกยูง ที่หัวใจเป็นเครื่องรับดวงจิตรวิญญาณ ถ้าหญิงเวียนซ้าย ถ้าชายเวียนขวา แต่มิได้ปรากฏออกมา เมื่อครรภ์ถ้วนไตรมาศแล้ว โลหิตนั้นก็แตกลงไปตามปัญจสาขา เมื่อได้ ๔ เดือนจึงตั้งอาการ ๓๒ ขึ้น บังเกิดตาแลหน้าผากก่อน สิ่งทั้งปวงบังเกิดเป็นอันดับกันไป เมื่อครรภ์ได้ ๕ เดือน จึงมีจิตรแลเบญจขันธ์พร้อมรูปักขันโธ เมื่อตั้งเป็นรูปขันธ์ขึ้นแล้ว วิญญาณักขันโธ ก็มีวิญญาณขันธ์รู้จักร้อนแลเย็น ถ้าแลมารดาบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเข้าไปเมื่อใด ก็ทำให้ร้อนทุรนทุรายดิ้นเสือกไปมา เวทนากขันโธ เวทนาขันธ์ก็เกิดขึ้นตามกัน ทารกอยู่ในท้องของมารดานั้น ลำบากทุกขเวทนาดุจสัตว์ในนรก นั่งยองๆ กอดเข่าเอามือกำไว้ใต้คาง ผินหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา ผินหลังออกข้างนาภี เหมือนดังลูกวานรอันนั่งอยู่ในโพรงไม้นั้น นั่งทับกระเพาะอาหารเก่า อาหารใหม่ตั้งอยู่บนศรีษะ น้ำอาหารนั้นก็เกรอะซาบลงไปทางกระหม่อม เพราะว่าทารกอยู่ในครรภ์นั้นกระหม่อมเปิด เมื่อมารดาบริโภคสิ่งอันใดที่ควรเข้าไปได้แล้วก็ซึมซาบออกจากกระเพาะข้าวก็เลื่อนลงไปในกระหม่อม จึงได้รับประทานอาหารของมารดาก็ชุ่มชื่นชูกำลังเป็นปกติ ถ้ามารดามิได้บริโภคอาหารและรสอาหารมิได้ซาบลงไป ทากรกนั้นก็มิได้รับรสอาหาร จึงทุรนทุรายกระวนกระวายระส่ำระสายดิ้นรนต่างๆ อันนี้มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์จตุราริยสัจจโน้นแล้ว ในคัมภีร์ปฐมจินดานี้ พระอาจารย์ท่านกล่าวไว้แต่สังเขป พอให้แพทย์ทั้งหลายทราบเป็นเค้าเพื่อแก้ไขโรคต่อไป อนึ่งโสดสัตว์จะมาปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น ท่านกล่าวไว้ว่า ถ้ามารดาอยากมัจฉะมังษาเนื้อปลาและสิ่งของอันคาว ท่านว่าสัตว์นรกมาปฏิสนธิ ถ้ามารดาอยากสิ่งอันเปรี้ยวแลขมท่านว่าสัตว์ที่มาปฏิสนธินั้นมาจากป่าหิมพานต์ ถ้ามารดาอยาก น้าผึ้ง น้าอ้อย น้าตาลท่านว่าสัตว์ที่มาปฏิสนธิมาแต่สวรรค์ ถ้ามารดาอยากผลไม้ทั้งปวง ท่านว่าสัตว์ที่มาปฏิสนธินั้น มาแต่ดิรัจฉาน ถ้ามารดาอยากกินดิน ท่านว่าสัตว์ที่มาปฏิสนธินั้นมาแต่พรหมโลก ถ้ามารดาอยากกินสิ่งที่เผ็ดแลร้อน ท่านว่าสัตว์ที่มาปฏิสนธินั้นมาแต่มนุษย์ ดังนี้
การปฏิสนธิตามหลักพระอภิธรรมปีฎก
เมื่อปฏิสนธิเกิดขึ้นครั้งแรกนั้น รูปที่ปรากฏ คือ เป็นน้ำกลละประมาณเท่าแมลงวันกินอิ่ม หรือเท่าน้ำมันที่ติดอยู่ปลายขนจามจุรี เวลาผ่านไป ๑ สัปดาห์ น้ำกลละเปลี่ยนเป็นอัมพุทะคล้ายน้ำล้างเนื้อ เวลาผ่านไปอีก ๑ สัปดาห์ เจริญขึ้นเป็นเปสิ คล้ายน้ำเมือก ผ่านไปอีก ๑ สัปดาห์ กลายเป็นฆนะ ก้อนเนื้อ ผ่านไปอีก ๑ สัปดาห์ เกิดเป็นปัญจสาขา คือ ศรีษะ ๑ ขา ๒ แขน ๒ ต่อไปเป็นปริปากเจริญขึ้นจนมีศรีษะ แขน ขา เป็นรูปร่างขึ้น รวมเวลา ๙ สัปดาห์ ก็เกิดจักขาทิ มีตา จมูก ปากขึ้น ต่อไปอีก ๙ สัปดาห์ ก็มีผม ขน เล็บ จนบริบูรณ์ด้วยอาการ ๓๒ ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ๙ เดือน ๒๙ วัน หรือ ๑๐ เดือน ก็คลอดออกมา เว้นแต่จะมีเหตุอื่นมาแทรกแซง การคลอดอาจผิดไปจากกำหนดนี้ก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็นหรือฝากรูปภาพด้วยสำนึกความเป็นมนุษย์ที่ดี
และโปรดปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ขอบคุณมากครับ