คัมภีร์ฉันทศาสตร์ ๔
๏ ปถวีโทษกล่าวมา ออกจากกายา กระดูกแลเนื้อเส้นเอ็น อาหารเก่าหากให้เห็น อาการที่เป็น วิบัติที่ในอาหาร ถึงป่วยไข้มาช้านาน ห่อนสิ้นอาหาร อันเก่าแต่ก่อนเดิมมา เมื่อจักสิ้นอายุปรากฏลงออกมา ให้เน่าแลเหม็นสาธารณ์ เป็นเลือดเป็นหนองพิการ เสมหะสัณฐาน คือมูลมุสิกร่วงราย บ้างดำบ้างเขียวเหลืองลาย สีนั้นย่อมทาย ว่ามูลขี้เทาตกลง เนื้อนั้นคือปลีแขนชงค์ เมื่อจักปลดปลง ชีวิตก็ห่อนเห็นหาบ กระดูกย่อมอยู่ในกาย ครั้นเมื่อจักตาย ก็ผอมเหี่ยวแห้งรูปทรง บังเกิดเห็นอิฐปลง สังเวชดูคง สัณฐานแลกลมเหลี่ยมแบน ชีพจรแต่ก่อนห่อนแคลน เดินอยู่ตามแผนระริกระรัวพัวพัน สิ้นแรงจักสิ้นอาสัญ สิ้นเส้นสำคัญ สิ้นชีพจรเคยเดิน โทษใครดังนี้เผอิญ จักตายไม่เกิน กำหนดในสามเจ็ดวัน ฯ
๏ จะสำแดงสมุฎฐาน กำหนดกาลที่เกิดไข้ ท่านตั้งไว้ประการสี่ ตามคัมภีร์ศิริมานนท์ ให้นรชนพึงรู้ สังเกตดูเพลากาล วันหนึ่งท่านแบ่งสี่ยาม คืนหนึ่งตามยามมีสี่ กลางวันมีโมงสิบสอง กลางคืนร้องเรียกว่าทุ่ม แม้นประชุมทุ่มเข้าสาม เรียกว่ายามเหมือนกัน ถ้ากลางวันสามโมงเล่า ท่านับเข้าว่ายามหนึ่ง ขอท่านพึ่งกำหนดเถิด ยามเช้าเกิดแต่เสมหัง ยามสองต้องด้วยโลหิต ยามสามติดเพื่อดี ตกยามสี่เพื่อวาตา ครั้นเพลาพลบค่ำ ยามหนึ่งทำด้วยกองลม ยามสองระดมดีซึมซาบ ยามสามอาบด้วยโลหิต ยามสี่ติดด้วยเสมหะ สมุฎฐานดังกล่าวมา จงวางยาแทรกกระสาย เสมหะร้าย แทรกด้วยเกลือ น้ำนมเสือใส่ประกอบ โลหิตชอบกระสายเปรี้ยว ดีสิ่งเดียวชอบรสขม ฝ่ายข้างลมชอบเผ็ดร้อน แพทย์จงผ่อนตามเวลา กระสายยาแทรกพลันหาย จะภิปรายในเรื่องรส เปรี้ยวปรากฏเคยสำเหนียก ส้มมะขามเปียกฝักส้มป่อย เปรี้ยวอร่อยน้ำส้มส้า ขมธรรมดาบอระเพ็ดกระดอมขมเป็นจอมดีงูเหลือม เผ็ดพอเอื้อมขิงดีปลี พิมเสนมีให้ใส่แทรก อนึ่งเค็มแปลกนอกจากเกลือ รู้ไว้เผื่อแก้ไม่หยุด มูตรมนุษย์เปลือกลำภู สองสิ่งรู้เถิดเค็มกร่อย อ่านบ่อย ๆ ให้จำได้ จะได้ใช้แทรกจูงยา ในตำราป่วงแปดประการ ตามคัมภีร์โบราณ ซึ่งท่านแต่ก่อนกล่าวเอย ฯ
วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็นหรือฝากรูปภาพด้วยสำนึกความเป็นมนุษย์ที่ดี
และโปรดปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ขอบคุณมากครับ