คัมภีร์ฉันทศาสตร์ ๒
๏ อนึ่งจะกล่าวสอน กายนครมีมากหลาย ประเทียบเปรียบในกาย ทุกหญิงชายในโลกา ดวงจิตรคือกษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์ ข้าศึกคือโรคา เกิดเข่นฆ่าในกายเรา เปรียบแพทย์คือทหาร อันชำนาญรู้ลำเนา ข้าศึกมาอย่าใจเบา ห้อมล้อมทุกทิศา ให้ดำรงกษัตริย์ไว้ คือดวงใจให้เร่งยา อนึ่งห้ามอย่าโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย ปิตตัง คือวังหน้า เร่งรักษาเขม้นหมาย อาหารอยู่ในกาย คือสะเบียงเลี้ยงโยธา หนทางทั้งสามแห่ง เร่งจัดแจงอยู่รักษา ห้ามอย่าให้ข้าศึกมา ปิดทางได้จะเสียที อนึ่งเล่ามีคำโจทย์ กล่าวยกโทษแพทย์อันมี ปรีชารู้คัมภีร์ เหตุฉันใดแก้มิฟัง คำเฉลยแก้ปุจฉา รู้รักษาก็จริงจัง ด้วยโรคเหลือกำลัง จึงมิฟังในการยา เมื่ออ่อนรักษาได้ แล้วไซร้ยากนักหนา ไข้นั้นอุปมา เหมือนเพลิงป่าไหม้ลุกลาม เป็นแพทย์พึ่งสำคัญ โอกาสนั้นมีอยู่สาม เคราะห์ร้ายขัดโชคนาม บางทีรู้เกินรู้ไป บางทีรู้มิทัน ด้วยโรคนั้นใช่วิสัย คนบ่รู้ทิฎฐิใจ ถือว่ารู้ขืนกระทำ จบเรื่องที่ตนรู้ โรคนั้นสู้ว่าแรงกรรม ไม่สิ้นสงสัยทำ สุดมือม้วยน่าเสียดาย บางทีก็มีชัย แต่ยาให้โรคนั้นหาย ท่านกล่าวอภิปราย ว่าชอบโรคนั้นเป็นดี เห็นโรคชัดอย่าสงสัย เร่งยากระหน่ำไป อย่าถือใจว่าลองยา จะหนี ๆ แต่ไกล ต่อจวนใกล้จะมรณา จึงหนีแพทย์นั้นหนา ว่ามิรู้ในท่าทาง อำไว้จนแก่กล้า แพทย์อื่นมาก็ขัดขวาง ต่อโรคเข้าระวาง ตรีโทษแล้วจึงออกตัว หินชาติแพทย์เหล่านี้ เวรามีมิได้กลัว ทำกรรมนำใส่ตัว จะตกไปในอบาย เรียนรู้คัมภีร์ไสย สุขุมไว้อย่าแพร่งพราย ควรกล่าวจึงขยาย อย่ายื่นแก้วแก่วานร ไม่รักจะทำยับ พาตำหรับเที่ยวขจร เสียแรงเป็นครูสอน ทั้งบุญคุณก็เสื่อมสูญ รู้แล้วเที่ยวโจทย์ทาย แกล้งอภิปรายถามเค้ามูล ความรู้นั้นจะสูญ เพราะสามหาวเป็นใจพาล ผู้ใดจะเรียนรู้ พิเคราะห์ดูผู้อาจารย์ เที่ยงว่าพิศดาร ทั้งพุทธไสยจึงควรเรียน แต่สักเป็นแพทย์ได้ คัมภีร์ไสยไม่จำเนียร ครูนั้นไม่ควรเรียน จะนำตนให้หลงทางเราแจ้งคัมภีร์ฉัน ทศาสตร์อันบุราณปาง ก่อนกล่าวไว้เป็นทาง นิพพานสุสิวาลัย อย่าหมิ่นว่ารู้ง่ายตำหรับรายอยู่ถมไป รีบด่วนประมาทใจ ดังนั้นแท้มิเป็นการ ลอกได้แต่ตำรา เที่ยวรักษาโดยโวหาร อวดรู้ว่าชำนาญ จะแก้ไขให้พลันหาย โรคคือครุกรรม บรรจบจำอย่างพึงทาย กล่าวเล่ห์อุบายหมาย ด้วยโลภหลงในลาภา บ้างจำแต่เพศไข้ สิ่งเดียวได้สังเกตมา กองเลือดว่าเสมหา กองวาตาว่ากำเดา คัมภีร์กล่าวไว้หมด ใยมิจดมิจำเอา ทายโรคแต่โดยเดา ให้เชื่อถือในอาตมา รู้น้อยอย่าบังอาจ หมิ่นประมาทในโรคา แรงโรคว่าแรงยา มิควรถือคือแรงกรรม อนึ่งท่านได้กล่าวถาม อย่ากล่าวความบังอาจอำ เภอใจว่าตนจำ เพศไข้นี้อันเคยยา ใช่โรคสิ่งเดียวดาย จะพลันหายในโรคา ต่างเนื้อก็ต่างยา จะชอบโรคอันแปรปรวน บางทีก็ยาชอบ แต่เคราะห์ครอบจึงหันหวน หายคลายแล้วทบทวน จะโทษยาก็ผิดที อวดยาครั้นให้ยา เห็นโรคาไม่ถอยหนี กลับกล่าวว่าแรงผี ที่แท้ทำไม่รู้ทำเห็นลาภจะใคร่ได้ นิยมใจไม่เกรงกรรม รู้น้อยบังอาจทำ โรคระยำเพราะแรงยา โรคนั้นคือโทโส จะภิญโญเร่งวัฒนา แพทย์เร่งกระหน่ำยา ก็ยิ่งยับระยำเยิน รู้แล้วอย่าอวดรู้ พินิจดูอย่าหมิ่นเมิน ควรยาหรือยาเกิน กว่าโรคนั้นจึงกลับกลาย ถนอมทำแต่พอควร อย่าโดยด่วนเอาพลันหาย ผิโรคนั้นกลับกลาย จะเสียท่าด้วยผิดที่ (ที ) บ้างได้แต่ยาผาย บรรจุถ่ายจงถึงดี เห็นโทษเข้าเป็นตรี จึงออกตัวด้วยตกใจ บ้างรู้แต่ยากวาด เที่ยวอวดอาจไม่เกรงภัย โรคน้อยให้หนักไป ดังก่อกรรมให้ติดกายฯ
๏ จะกล่าวกำเนิด ทั้งที่เกิดที่อยู่ ทั้งฤดูเดือนวัน อายุปันเวลา อาหารฝ่าสำแลง โรคร้ายแรงต่าง ๆ ยาหลายอย่างหลายพรรณ สิ้นด้วยกันเก้ารส จงกำหนดอย่าคลาศ ยารสฝาดชอบสมาน รสยาหวานซาบเนื้อ รสเมาเบื่อแก้พิษ ดีโลหิตชอบชม เผ็ดร้อนลมถอยถด เอ็นชอบรสมันมัน หอมเย็นนั้นชื่นใจ เจ็บ( เค็ม )ซาบในผิวหนัง เสมหะยังชอบส้ม กำเริมลมที่อยู่เปือก ตอมฟูเยือกเย็น เนื้อหนังเอ็นปูปลา ย่อมภักษาครามครัน เสมหะนั้นโทษให้ ที่อยู่ในชลธาร มันเสพหว่านเนื่องนิจ ดีโลหิตจำเริญ ที่อยู่เถินเนินผา อาหารฝ่าเผ็ดร้อน อนึ่งสัญจรนอนป่า เพื่อภักษางูเห่า กำเริมเร้าร้อนรุม สันนิบาตกุมตรีโทษ นัยหนึ่งโสดกล่าวมา ฤดูว่าเป็นหก ท่านแยกยกกล่าวไว้ เดือนหกในคิมหันต์ ควรเร่งปันเอากิ่ง แรมค่ำหนึ่งถึงเพ็ญ เดือนสิบเป็นคิมหันต์ กับวสันต์ฤดู เป็นสองอยู่ด้วยกัน อย่าหมายมั่นว่าฝน บังบดบนยิ่งร้อน พระทินกร เสด็จใกล้ มาตรแม้นไข้สำคัญ เลือดดีนั้นเป็นต้น แรมลงพ้นล่วงไป ถึงเพ็ญในเดือนยี่อาทิตย์ลีลาศห่าง ฤดูกลางเหมันต์ กับวสันต์เป็นสอง น้ำค้างต้องเยือกเย็น เสมหะเป็นต้นไข้ แรมลงไปเพียงกิ่ง เดือนหกถึงเพ็ญนั้น เข้าคิมหันต์ระคน เหมันต์ปนสีปักษ์ ลมพัดหนักแม้ไข้ กำเริมในวาตา ซึ่งกล่าวมาทั้งนี้ ต้นปลายปีบรรจบ ฤดูครบเป็นหก สี่เดือนยก ควบไว้ ฤดูใดไข้เกิด เอากำเนิดวันนั้น เป็นสำคัญเจ้าเรือน กำเริบเดือนนั้นว่า ในเดือนห้า เดือนเก้า เดือนอ้ายเข้าเป็นสาม เดือนนี้นามปถวี เดือนหกมีกำหนด เดือนสิบหมดเดือนยี่ สามเดือนนี้ธาตุไฟ อนึ่งนั้นในเดือนเจ็ด เดือนสิบเอ็ดเดือนสาม สามเดือนนามธาตุลม เดือนแปดสมเคราะห์เดือนสิบสองเลื่อนเดือนสี่ สามเดือนนี้อาโปกำเริบโรคามี เหตุทั้งสี่กล่าวมา รายเดือนว่าเหมือนกัน อนึ่งสำคัญลมดี กำลังมีไฟ ธาตุภายในแรงยิ่ง อาโปสิ่งทั้งหลาย กำเริบร้ายด้วยเพศ เสมหะเหตุเป็นตน สันนิบาตท้นแรงไข้ กำเนิดในปถวี กำเริบมีกำลัง กำเริบมีกำลัง หนึ่งเด็กยังไม่รุ่น ยามเช้าครุ่นครางไข้ ปฐมวัยพาละ โทษเสมหะพัวพัน หนุ่มสาวนั้นเป็นไป กำลังในโลหิต ไข้แรงพิษเมื่อเที่ยง คนแก่ เพียงพินาศ ไข้บ่ายชาติวาตา ไข้เวลากลางคืน เสมหะฟื้นลมอัคคี สันนิบาตตรีโทษา หนึ่งคลอดมาจากครรภ์ ระวีวันเสารี เตโชมีเป็นอาทิ ศะศิครูปถวี อังคารมีวาโย พุธอาโปศุกร์ด้วย ธาตุนี้ม้วยกับตน โรคระคนทั่วไป ปรึกษาไข้จงมั่น ฤดูนั้นเข้าจับ อายุกับเพลา เดือนวันมาประมวณคงใคร่ครวญด้วยโทษ นัยหนึ่งโสดไข้นั้น แทรกซ้ำกันบางที วาโยดีเจือกัน เสมหะนั้นกับดี เสมหะมีกับลม ใคร่ให้สมอย่าเบา อย่าฟังเขาผู้อื่น คัมภีร์ยื่นเป็นแน่ กำหนดแก้เจ้าเรือน อายุเดือนวันเพลา กำเริบมาเป็นแทรก ไข้มาแซกอย่ากลัว ถึงมุ่นมัวซบเซา ถ้าไข้เจ้าเรือนไป ไข้แขกไม่อาจอยู่ อนึ่งเล็งดูในไข้ พอยาได้จึงยา ไม่รู้อย่าควรทำ จะเกิดกรรมเกิดโทษ ฯ
๏ จะกล่าวเพศชีพจรจำ เดือนขึ้นค่ำฝ่าบาทา เร่งรีบให้กินยา ตามตำราสะดวกดี สองค่ำอยู่หลังบาท อาจสามารถแก้โรคี กินยาสะดวกดี ตามคัมภีร์ที่มีมา สามค่ำอยู่ศีรษะ ชัยชนะแก่โรคา เร่งถ่ายเร่งผายยา ดีนักหนาอย่างสงสัย สี่ค่ำประจำแขน ตามแบบแผนอันพึ่งใจ ผายยามิเป็นไร โรคใดๆ อันตรธาน ห้าค่ำประจำลิ้น ยาที่กินแล่นเฉียวฉาน วาโยย่อมกล้าหาญ ขึ้นตามตนราก อาเจียน หาค่ำย่อมเรียงราย ทั่วทั้งกายให้คลื่นเหียน ป่วนปั่นให้วิงเวียน ย่อมติเตียนตำรายา เจ็ดค่ำประจำแข้ง ตามตำแหน่งให้ผายยา ระงับดับวาตา ในอุราไม่แดกดัน แปดค่ำอยู่ท้องน้อย ระยำย่อยห้ามกวดขัน กำเริบทุกข์สาระพัน ตำรานั้นว่ามิติ( ดี ) เก้าค่ำประจำมื้อ เร่งนับถือเป็นศุขี ระงับดับโรคี จำเริญศรีอายุนา สิบค่ำประจำก้น ดีล้นพ้นต้องตำรา ชะนะแก่โรคา ดับวาตาถอยลงไป สิบเอ็ดค่ำประจำฟัน ซึ่งห้ามนั้นอย่าสงสัย มักรากลำบากใจ โรคภายในกำเริบมา สิบสองค่ำประจำคาง อย่างละวางในตำรา กำเริบร้ายโรคา อย่าวางยาจะถอยแรง สิบสามค่ำอยู่ขาดี อันโรคีไม่ระแวง ทั้งโรคร้ายก็หน่ายแหนง อย่าควรแคลงเร่งวางยา สิบสี่ค่ำประจำหลัง อย่าพลาดพลั้งเร่งศึกษา ห้ามไว้ในตำรา ทุเลายาลำบากกาย สิห้าค่ำประจำใจ ท่านกล่าวไว้สำหรับชาย อย่าประจุยารุถ่าย อย่ามักง่ายว่าตามมี แรมค่ำหนึ่งจำใจใส่ ประจำใต้ฝ่าตนดี สองค่ำประจำที่ หลังตื่นมีอายุนา สามค่ำอยู่สะดือ อย่านับถือมักรากรา สี่ค่ำอยู่ทันตา จะมรณาม้วยบรรลัย ห้าค่ำประจำสิ้น ห้ามอย่ากินรากพ้นไป หกค่ำอยู่เศียรไซร้ ดับโรคภัยสิ้นทั้งปวง เจ็ดค่ำประจำตัว ย่อมเกรงกลังปะทะทรวง แปดค่ำว่าหนักหน่วง อยู่ในทรวงย่อมจะตาย เก้าค่ำประจำคางเป็นปานกลางคลื่นลงสาย สิบค่ำแขนสบาย ลงง่ายดายเร็วหนักหนา สิบเอ็ดค่ำประจำมือ เร่งนับถือตามตำรา สิบสองค่ำอยู่นาสา หายโรคาอย่าสงสัย สิงสามค่ำอยู่กรรณ์ พยาธินั้นสิ้นสูญไป สิบสี่ค่ำอยู่ปากไซร้ ห้ามมากไว้สิ้นชีวี สิบห้าค่ำอยู่คอ จงรั้งรอตามวิธี กินยาว่ามิดี ห้ามทั้งนี้ตามตำรา ชีพจรนี้สำคัญข้างขึ้นนั้นแลแรมหนา เหมือนกันดังกล่าวมา จะผายยาดูให้ดี บุราณท่านตั้งไว้ คัมภีร์ไซร้สำหรับมี ดับพยาธิโรคี อายุยืนเจริญเอย ฯ
๏ บัดนี้จะกล่าวแถลง ให้รู้แจ้งแห่งธาตุหนอ สังเขปไว้แต่ย่อๆ พอเป็นอย่างทางเล่าเรียนผู้ใดได้พบเห็น อย่าล้อเล่นแล ติเตียน ด้วยข้าอุตส่าห์เพียร จึงได้เขียนเป็นตำรา จักกล่าวตามลักษณะชื่อรัตนะธาตุทั้งห้า อาจารท่านพรรณา คัดออกมาจากโรคนิทาน ลักษณะนั้นมีห้า เป็นธรรมดาแต่โบราณ คือธาตุนั้นพิการ กำเริบแลหย่อนไป อนึ่งเล่าคือธาตุแตก เป็นแผนกนับออกไว้ ธาตุออกจากกายไซร้ สังเขปได้ห้าประการ ฯ
๏ จะกล่าวธาตุปถวี โทษนั้นสี่สิบสองสถาน อาพาธนั้นบันดาล ให้เจ็บปากแลเจ็บฟัน ผมร่วงเจ็บในสมอง หนังหัวพองขนลุกชัน เจ็บในก้อนเนื้อนั้น เจ็บแถวเอ็นแลดวงใจ ผิวหนังแตกระแหง เจ็บทุกแห่งกระดูกใน นาภีนั้นปวดเจ็บไป ปถวีไซร้หย่อนแลนา อนึ่งเล่ากองปถวี กำเริบมีกำลังมา สิบสามตามสังขยา คือนิทราไม่หลับใหล ให้คลั่งให้เจ็บอก น้ำลายตกกระหายไป ให้เศียรร้าวณะภายใน มักโกรธใจให้เจ็บหลัง ขัดหนักและขัดเบา ท้องนั้นเล่าลั่นเสียงดัง ต่าง ๆ ให้พึ่งฟัง เจ็บกระทั่งถึงทวารเบา ข้อมือและข้อแขน ตลอดแล่นเมื่อยขบเอา โทษนี้ปถวีเล่า อย่าดูเบาสุขุมา นัยหนึ่งเมื่อพิการ ให้เจ็บซ่านทั้งกายา ท้องนั้นเจ็บหนักหนา ให้วาตาตีขึ้นไป ท้องลั่นเสียงต่าง ๆ เสียดแทงข้างขบตอดใน โทษนี้ปถวีให้ พิการไซร้จึงวิกล นัยหนึ่งปถวีธาตุ เมื่อนิราศออกจากตน เจ็บท้องเป็นสลวน ท้องขึ้นท้นผอมเหลืองไป สมมุติว่าริดสีดวง เพศนี้ล่วงจักแหน(แปร)ไป เป็นองคสูตไซร้ น้ำมูตรในเป็นเลือดหนอง ให้เสียดสันหลังไป อาหารไซร้มิอยู่ท้อง ปถวีนี้คะนอง ให้เร่งยาในห้าวัน ฯ
๏ นัยหนึ่งปถวีแตก ท่านยกแยกไว้สำคัญ คือโสตทั้งสองนั้น ห่อนได้ยินเสียงเจรจา จักษุทั้งสองไซร้ รูปสิ่งใดห่อนเห็นหนา ผิวเนื้อนั้นหยาบช้า ซีดสากซาเป็นอนิจจัง มีโทษทั้งสามนี้ บังเกิดมีเร่งระวัง ห้าวันจะมรณัง ผู้เป็นแพทย์อย่านอนใจ ฯ
๏ จักแจ้งอาโปธาตุ เป็นประหลาดเมื่อหย่อนไป อาการสิบเอ็ดให้ ดีพลุ่งไซร้แลเสมหา บุพโพก็ลามไหล โลหิตไซร้บังเกิดมา ขนชันทั่วกายา เกิดน้ำตาให้ลามไหล เสโทแลน้ำเบา เขฬะเล่าเกิดมากไป กำเดามักตกไหล มักเป็นไข้เกิดพิการ ฯ
๏ อนึ่งเล่าอาโป ไซร้กำเริบให้โทษสิบเอ็ดสถาน ให้เบื่อรสอาหาร น้ำตาตกปวดศิรา ข้อมือแลข้อเท้า ให้เมื่อยเล่ามักนิทรา ระหายน้ำเป็นมหา วิงเวียนหน้าตัวสั่นไป ให้สะอึกนอนไม่สนิท หวาดหวั่นจิตรสะดุ้งไหว คำนึงถึงดอกไม้ รำพึงไปถึงกิเลศกาม เท่านี้เป็นสิบเอ็ด กล่าวสำเร็จแต่ใจความ เรียนรู้เร่งไต่ถาม จึงควรนับว่าแพทย์ดี หนึ่งเล่าเมื่อพิการ สามสถานให้เกิดมี ขัดเบาแลนาภีขึ้นพองแลน้ำพิการ อาโปเมื่ออันตราย ออกจากกายแปรสถาน ให้จุกแน่นเป็นดานส่วนที่ลงก็ลงไป ขัดหนักแลขัดเบา เจ็บหัวเหน่าให้หลงไหล ตกเลือดตกหนองใน ปวดมวนไปเป็นนานา บางคาบท้องนั้นผูก กลิ้งเป็นแดกขึ้นมา ให้เสียดสองซ้ายขวา ยากที่ยาจะแก้ไข โรคนี้บุราณกรรม เพศนั้นทำจักแปรไป จัดขัดหัวเข่าให้ เจ็บท่องคู้ทั้งสองเป็น อนึ่งธาตุอาโปแตก ท่านยกแยกไว้ให้เห็น อาการเฉพาะเป็น เกิดวิบัติให้ขัดเบา ลิ้นแข็งลิ้นแห้งไป ตัวเย็นไซร้พร้อมกันเข้า ทั้งสี่ประการเล่ายังห้าวันจะมรณา ฯ
๏ จักกล่าววาโยไซร้ เมื่อหย่อนไปให้โทษมา สิบสามตามสังขยา คือวาตาวิบัติไป มักถอนใจใหญ่นัก หาวเรอมักผายลมใน เป็นลมท้นท้องให้ กระบัดไปร้อนหนาวนา ให้ร้อนในทรวงอก กายสั่นงกเท้าหัตถา ลมแล่นทั่วกายา เท้าหัตถานั้นตายไป ลมพัดต้องดวงจิตร ลมทำพิษให้คลั่งไคล้สิบสามโทษนี้ให้ วาโยไซร้ผ่อนหย่อนลงวาโยกำเริบคะนอง โทษสิบสองอาการตรง ลิ้นแข็งคอแห้งผลกระหายน้ำเขม่นตา ขนพองสยองเกล้า ฟันคลอนเล่าขัดนาสา อาหารไม่นำพาเท้าหัตถานั้นเย็นไปฟันแห้งปากแห้งเล่า จักนับเข้าสิบสองไซร้ วาโยกำเริบให้ เร่งแก้ไขกำเริบมา วาโยพิการเล่า เมื่อท้องเปล่าอาเจียนหนา บางคาบอิ่มข้าวปลา จึงอาเจียนคลื่นเหียนไป ห้องนั้นคลอนลมอยู่ พิเคราะห์ดูโทษนี้ไซร้ วาโยพิการให้ ท่านกล่าวไว้เป็นสำคัญ วาโยออกจากตน เกิดวิกลสองหูนั้น ให้หนักแลติงครัน หิงห้อยนั้นออกจาตา ให้เมื่อยสองหัวเข่า จะเป็นเล่าตะครัวหนา จับโปงโป่งขึ้นมา เจ็บขัดทรวงเสียวปวดไป มักแปรเป็นฝีเอ็น ร้อนแลเย็นกระบัดให้ สันหลังเมื่อยขบไป วาโยไซร้ออกจากกาย วาโยเมื่อแตกเล่า หายใจเข้าน้อยไปหาย ใจออกมากระบาย ห่อนรู้จักสมปฤดี กลางคืนแลกลางวัน จักษุนั้นมืดมึนสี โทษสองประการนี้ ยังสองวันจะมรณา ฯ
๏ พรรณาเตโชไซร้ เมื่อหย่อนไปให้โทษมา ให้ขัดในอุรา ให้แสบไส้ให้ตัวเย็น จะนอนไม่สบาย พลิกขวาซ้ายวิบัติเห็น ต่างๆ เพื่อให้เป็น มิใคร่หลับสนิทนาน ครั้นหลับสะดุ้งไหว กายนั้นให้มักรำคาญ มักอยากกินอาหารของสดคาวเป็นนานา อาหารกินน้อย ๆ หิวบ่อย ๆ หลายเพลา อาการสิบนี้นา เร่งรู้ไว้ให้ชัดเจน ในเมื่อเตโชธาตุ วิปลาศกำเริบเป็น โทษสิบประการเห็น ให้ฟันแห้งปากแห้งไป ไม่นึกอยากอาหาร นอนแล้วคร้านลุกขึ้นให้ เจ็บสูงมืดมัวไป น้ำตาไหลไอแห้งเปล่า พอใจอยู่ที่เปลี่ยว อยู่ผู้เดียวอย่ารุมเร้า เจรจาแล้วลืมเล่า ให้เจ็บเร้าระบมกาย เตโชเมื่อพิการท้องขึ้นพล่านไม่สบาย ท้นท้องมิรู้หาย เป็นมงคร่อแลหืดไอ ขัดอกบวมมือเท้า โทษนี้เล่าเหตุเพราะไฟ พิการเร่งแก้ไข ตามท่านไว้สรรพยา เตโชออกจากกาย ให้ร้อนปลายเท้าหัตถา เจ็บปวดเป็นพิษมาดังเขี้ยวงาขบตอดตน แปรไปให้บวมเล่า หลังมือเท้าปวดสุดทน แปรไปผุดทั้งตน เป็นเม็ดแดงแลดำมีแล้วจมลงทำท้อง ตกเลือดหนองแก้จงดี มือเท้าทั้งสองนี้ ให้เป็นเหน็บชาตายไป โรคนี้ให้เร่งแก้ดูให้แน่อย่านอนใจ จะเสียมากกว่าได้ เร่งแก้ไขแต่อ่อนมา อนึ่งเล่าเตโชแตก ท่านยกแยกโทษไว้ห้า ปากแห้งแข็งชิวหา เลือดตกหน้าตาแห้งไป ห่อนรู้จักหน้ากัน หายใจสั่นสะท้อนใน ผิวโทษโทษเช่นนี้ไซร้ ยังสามวันจะมรณา ฯ
๏ อากาศธาตุแตกนั้น ให้หูลั่นกรอกกลอกตา แลดูนิ้วแลหัตถา ห่อนปรากฏจักษุตน โทษสองประการนั้น ยังสองวันชีวาตน จักดับถึงอับจน กล่าวไว้แท้แน่ตำรา ฯ
๏ กลหนึ่งลักษณะธาตุ เมื่อนิราศจากอาตมา เตโชเจ็ดวารา เร่งวางยาแก้ไขกัน ปถวีเมื่อออกจาก แก้ไขยากแต่ห้าวัน มิฟังพ้นกว่านั้น โรคแปรผันเข้าอวสาน วาโยออกเล่าไซร้ เร่งแก้ไขแต่เจ็ดวาร มิทุเลาเบาอาการ เข้าอวสานท่านกล่าวไว้ อาโปเมื่อออกซ่าน สิบเอ็ดวันเร่งแก้ไขโดยที่คัมภีร์ใน ท่านกล่าวไว้ให้แจ้งใจ อากาศเมื่อออกนั้น แก้แต่วันเดียวนั้นไซร้ ยามหนึ่งพึงจำไว้เป็นฉบับโบราณมา จะกล่าวลักษณะธาตุ ท่านกล่าวขาดถึงอวสาน ล้มใช้ได้ตรีวาร ให้เชื่อมมึนไม่สมประดี อาหารกินมิได้ ปิดหนักไว้ถ่ายหลายที ไม่ลงสะดวกดี กลับคลื่นเหียนไม่ฟังยา ลักษณะโทษทั้งนี้ ธาตุปถวีเป็นมหา อาการสิบวารา สิบเอ็ดวันเข้าอวสาน ฯ
๏ ล้มไข้ได้สามวัน แลสี่วันมีอาการ หาวเรอรากอาหาร นอนสะดุ้งไม่สมประดี ให้เพ้อละเมอคว้า มักเจรจาพูดด้วยผี เท้าเย็นมือเย็นมี โทษทั้งนี้เพราะวาตา จะเสียส่วนหนึ่งๆ หนึ่งได้แก้เย็นไซร้มีร้อนมา อาการสิบวารา เก้าวันถึงอวสาน ฯ
๏ ล้มข้าได้สามวัน แลสี่วันทิ้งอาหาร ให้ลงมากเหลือการ อยู่ดีๆ ฉูดลงไป ลางทีตกเสมหัง โลหิตังตา( ตก )ลามไหล ทั้งสองทวารใน แล้วให้รากโลหิตา ลักษณะอาโปธาตุ ย่อมร้ายกาจไม่ฟังยา เจ็ดวันอย่าฉันทา อยากการคาดถึงอวสาน ฯ
๏ ล้มข้าได้สามวัน แลสี่วันมีอาการ ให้ร้อนสองสถาน ร้อยภายนอกแลภายใน พรมน้ำอยู่บ่วาย ให้ระหายน้ำเหลือใจ คอแห้งถึงทรวงใน ให้คลั่งไคล้ไม่สมประดี ให้เมื่อยทั่วทั้งตน ดุจคนมารยามี กิริยาเหมือนหนึ่งผี ภูตแลพรายประจำใจ ให้อยากของแสลง ผิดสำแลงแล้วหนักไป ห้าวันอย่าอาลัย โทษนี้ไซร้ไม่ฟังยา เข้าอวสานเร่งพินิจ แพทย์พึ่งพิจารณา ตักเสียอย่ารักษา เตโซธาตุสำแดงการ อนึ่งอากาศธาตุนั้น ในสองวันเป็นประมาณ มิฟังเข้าอวสาน แพทย์พิจารณ์ชำนาญเอย ฯ
๏ จะกล่าวธาตุทั้งสี่ ในคัมภีร์ย่อมมีมา กุลบุตรมีปัญญา อันน้อยค่อยกำหนดฟัง เตโชพิการกาล กำเนิดโทษวาโยบัง เกิดจุกแลเสียดหลัง จะหายใจบ่อิ่มใจ บวมมือแลบวมเท้า อาหารเล่ากินมิได้ ตั้งแต่จะลงไป จนสุดสิ้นกำลังโรย ครั้นสิ้นอาหารใน อุทรให้กระหายโหย หิวน้ำระยำโดย อุจจาระพิการเป็น ดังหนึ่งน้ำล้างเนื้อ กลิ่นนั้นเจือก็แม้นเหม็น ตะพาบน้ำอันคาวเป็น กำเนิดไฟอันสิ้นไป ปากแห้งแลคอแห้ง เหตุเพื่อแห่งอาหารใน อุทรนั้นสิ้นไป น้ำลายขาดบ่ค้างคอ เอามือนั้นบ้ายยา จงล้วงดูในลำสอ ถ้าเย็นเป็นเหน็บต่อ จะตายในเมื่อวันเย็น ฯ
๏ วาโยพิการนั้น ให้หูตึงกำเนิดเป็น น้ำหนวกอันไหลเหม็น ไม่เห็นไฟนัยน์ตาฟาง เมื่อยมือแลเมื่อยเท้า สันหลังฟกก็ดูพาง ฝีเอ็นกำเริบลาง บ้างก็อวกอาเจียนลม บ้างลงจนสิ้นแรง อาหารแดงในอาจม สิ้นไส้ก็เพื่อลม ในลำไส้จะหนีกาย ครั้นหน่วงด้วยคุณยา ที่ลงมาค่อยห่างหาย กลับรากลำบากกาย เป็นดังนี้ด้วยแรงกรรม อาการที่กล่าวมา เจ็ดวันว่าจงควรจำ ยายากจะยายำ โทษนี้แท้กำหนดตาย ฯ
๏ อาโปให้โทษนั้น ที่แท้ท่านกำหนดหมาย ดีเลือดเสลดทาย ทั้งสามนี้ท่านกล่าวมา ฯ
๏ จักกล่าวดีก่อนให้ปรา กฎโดยโทษา ให้แจ้งประจักษ์โดยมี จักตายเหตุนั้นคือดี แตกรั่วบางที ซึมซ่านแลล้นไหลไป ล้นนั้นด้วยโทษแห่งไฟ กำเริบหนึ่งใน อสรพิษฤทธิ์ยา ต้องกายกาย ร้อนดังกา ยาต้องอาญา วิบากด้วยท่าโบยตี ตกต้นไม้สูงตับดี แตกรั่วบางที ผีร้ายแลโทษซางกาฬ ขึ้นดีขั้วตีอติสาร ดีรั่วอาการ ให้ลงแลเหลืองทั้งกาย คนไข้ให้ปากเราะราย โทษมากมาย ให้บ่นพะเพ้อพึมไป โทษนี้ยากยากแก้ไข เต็มช้าจักไป กำหนดแต่เจ็ดวันวาร ดีแตกดีนั้นคือกาฬ จักสิ้นสุดปราณ เมื่อแตกอย่าได้ควรแคลง โทษโลหิตนั้นสำแลง อาหารแสลง เผอิญให้ร่วงลงไป ครั้นสิ้นสุดอาหารใน ลงเป็นน้ำใส ระคนด้วยเลือดจาง ๆ บ้างเป็นบิดปวดมวนคราง แน่นหน้าอกพาง พินาศด้วยรากลมทำ จับนิ่งแน่เท้ามือกำ ตัดอาหารทำ ให้ชัดให้ช้อนเหลือกตา ถ้าพร้อมด้วยโทษกล่าวมายากแพทย์จะรักษา จะยานั้นยากควรจำ เสมหะหนึ่งอยู่ในลำ คอหนึ่งประจำ ในทรวงแลย่อมเต็มทรวง อยู่ทวารหนักหนึ่งทั้งปวง เป็นสามคือยวง หยากเยื่อแลย่อมพัวพัน ถ้าไฟลมกล้านักมันข้นแค่นแข็งขัน ให้หย่อนให้ย้อยลงไป จากทรวงตั้งอยู่ยังใน ท้องมารกะไษยดังบ้างแลม้ามตัวมีให้จับเชื่อมมึนบางที เป็นเวลามี ให้จุดให้เสียดขบแทง เสมหะในทวารสำแดง โทษมันนั้นแรง ให้ลงแลเหลืองทั้งกาย มูตรตาเหลืองยาบ่มิคลาย เมื่อจักใกล้ตาย ก็เน่าเป็นบิดปวดมวน เสมหะในลำคอกวน กินอาหารชวน ให้เหียนให้รากครุ่นไป โทษพร้อมดังกล่าวมาใน นี้จงแจ้งใจ จะยานั้นยากสุดยา ฯ
วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็นหรือฝากรูปภาพด้วยสำนึกความเป็นมนุษย์ที่ดี
และโปรดปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ขอบคุณมากครับ