ตำนานแพทย์ไทยแผนโบราณ ๓
ต่อมานายแพทย์โกมารภัจจ์ ได้ทำการผ่ากระโหลกศีรษะเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นั้น อีก ๑ เศรษฐีคนนั้นเป็นโรคในศีรษะมาหลายปี ได้ให้แพทย์คนอื่นรักษามาหลายคนแต่ไม่หาย เมื่อโกมารภัจจ์ไปตรวจดูอาการโรคของเศรษฐีนั้นแล้ว ก็เริ่มลงมือรักษา คือผ่ากระโหลกศีรษะของเศรษฐีเมื่อผ่าแล้วได้นำเอาพยาธิที่เป็นเชื้อโรคออกให้คนดู ๒ ตัว เสร็จแล้วก็ทำการประสานและเย็บกะโหลกศีรษะติดกันและทายาให้ เศรษฐีนั้นก็หายจากโรคได้เป็นปกติ ในการผ่ากระโหลกศีรษะ และรักษาเศรษฐีคราวนี้ โกมารภัจจ์ได้เงินจากเศรษฐี ๒๐๐,๐๐๐ กระษาปณ์
ต่อมาลูกชายเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีนครหลวงของแคว้นกาสี ป่วยเป็นโรคสำไส้พิการ ซึ่งอาการให้ปรากฏ คืออาหารไม่ย่อย อุจจาระปัสสาวะไม่สะดวก ทำให้ร่างการซูบผอม เศรษฐีผู้นั้นได้อุตส่าห์เดินทางไปเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารทูลขอให้โกมารภัจจ์ไปรับรักษาลูกของพระเจ้าพิมพิสารก็อนุญาตให้โกมารภัจจ์ไปรักษาลูกเศรษฐีนั้น การรักษาเป็นการยาก เพราะต้องผ่าท้องตรงจุดลำไส้ ในที่สุดได้ตัดไส้ที่พิการนั้นออก แล้วใส่ยาเอาไส้เข้าที่เย็บบาดแผลให้เรียบร้อยโกมารภัจจ์รักษาลูกเศรษฐีนั้นหายได้เป็นปกติ เศรษฐีได้ให้เงินเป็นค่ารักษาแก่โกมารภัจจ์ ๑๖,๐๐๐ กระษาปณ์
ต่อมาพระเจ้าจัณฑปัจโชคิ์ กษัตริย์แห่งแคว้นเจดีย์ มีเมืองอัชเชนีเป็นนครหลวง ทรงประชวรด้วยพระโรคปันฑุโรคาพาธ ร่างกายเหลือง ไปทั้งพระองค์ (โรคดีซ่าน) ได้ให้แพทย์ที่มีชื่อรักษาแล้วแต่ไม่หาย ได้หมดสิ้นค่ารักษาไปเป็นอันมาก จึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ขอให้โกมารภัจจ์ไปรักษา พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงอนุญาตให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ไปรักษา หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็รักษาโรคนั้นหายได้ หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้รับพระราชทานรางวัลผ้าสีเวยยอย่างดีมีราคาแพง ๑ คู่
ต่อมาพระผู้มีพระภาคเกิดมีพระกำลังอ่อนเพลีย เนื่องจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่สม่ำเสมอมีพระประสงค์จะถ่ายพระนาภี จึงได้รับส่งให้พระอานนท์เข้าไปเฝ้า เมื่อพระอานนท์เข้าไปเฝ้าแล้วจึงแจ้งพระประสงค์ให้ทราบ เมื่อพระอานนท์ทราบพระประสงค์แล้ว จึงไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์นายแพทย์ประจำพระองค์ แล้วเล่าความให้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคมีพระอาการไม่ค่อยสบาย ประสงค์จะดื่มยาถ่าย ขอให้ประกอบยาถวาย เมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ทราบดังนั้นก็รำพึงในใจว่า เราจะถวายพระโอสถสามัญย่อมเป็นการไม่สมควร เราควรจะทำพระโอสถพิเศษถวาย แล้วหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เก็บเอาดอกอุบลมา ๓ กำ อบด้วยตัวยาอย่างแรงตามตำหรับที่ได้ศึกษามา เมื่ออบยาเสร็จแล้วก็นำไปถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอให้พระผู้มีพระภาคจงโปรดสูดกลิ่นบัวกำที่หนึ่งนี้จะทำให้พระองค์ถ่ายพระบังคลหนัก ๑๐ ครั้ง รุ่งขึ้นให้สูดเกลิ่นบัวกำที่สองและกำที่ ๓ จะทำให้ถ่ายพระบังคลหนักอีกวันละ ๑๐ ครั้ง รวมเป็นสามสิบครั้งด้วยกัน เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงระบายพระนาภีแล้ว ก็มีความสุขสบายเป็นปกติตลอดมา
ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาค ได้ถูกสะเก็ดหินที่พระเทวทัตถ์กลิ้งมาเพื่อให้ทับพระองค์นั้น กระเด็นมาถูกพระบาททำให้ห้อพระโลหิต หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ประกอบยารักษาแผลอีกครั้งหนึ่ง การรักษาโรคของหมอชีวกโกมารภัจจ์หายเป็นปกติทุกครั้ง นอกจากการรักษาบุคคลสำคัญ ๆ ตามที่กล่าวมานี้ได้รักษาโรคคนทั่วไปอีกมากมาย นอกจากการรักษาโรคของคนป่วยแล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้แต่งตำหรับตำราวิชาแพทย์ไว้เป็นหลักฐาน ให้ได้เล่าเรียนศึกษากันต่อมาอีกด้วย
นายแพทย์ที่มีชื่อเสียงดีในประเทศอินเดียในสมัยนั้น นอกจากหมอชีวกโกมารภัจจ์แล้ว ยังมีอีกหลายคน คือ
๑. ฤษีภาสทวาชะ
๒. ฤษีธันวันตริ์
๓. อาจารย์อทรียะ แห่งเมืองตักกะศิลา แคว้นคันธาระ
๔. อาจารย์สุสรูตะ แห่งกรุงพาราณสี แคว้นการสีประมาณก่อนพุทธศักราช ๒๔ ปี
๕. หมอจรกะ แห่งกรุงปุรุษปุระ แคว้นแคชเมียร์ประมาณ พ.ศ. ๖๖๓ – ๖๙๓
ผู้ที่เป็นอาจารย์ของท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้น คือท่านอาจารย์อารียะ แห่งเมืองตักกะศิลา หมอชีวกโกมารภัจจ์นั้น เป็นชาวกรุงราชคฤห์แคว้นมคธ เป็นแพทย์ประมาณก่อนพุทธศักราช ๔๐ ปี
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ไปทำการรักษาพระเจ้าโทเลมีแห่งอียิปป์อีกพระองค์หนึ่ง
ก่อนที่หมอชีวกโกมารภัจจ์จะเดินทางกลับกรุงราชคฤห์ เมื่อเสร็จจากการศึกษาแล้ว ๒-๓ วัน มีชายคนหนึ่งวิ่งสะดุดหินหกล้มคะมำไปโดยแรง ใกล้หนองน้ำแห่งหนึ่ง ศีรษะกระทบหิน กระโหลกศีรษะบุบถึงอาการสลบ มีคนไปพบเข้าช่วยกันหามมาที่บ้านอาจารย์ของหมอชีวกโกมารภัจจ์เพื่อให้ช่วยรักษา เมื่ออาจารย์ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ตรวจบาดแผลแล้วบอกว่าไม่รู้จะรักษาวิธีใด เพราะปรากฏว่ามีเขียดน้อยตัวหนึ่งเข้าไปอยู่ในแผลนั้น ท่านว่าลำพังบาดแผลนั้นไม่สำคัญนัก ยังมีทางรักษาได้ แต่เจ้าเขียดตัวนั้นถ้าไปทำให้มันตกใจ มันจะถีบไยประสาทในสมองทำให้ถึงตายได้ พอดีหมอชีวกโกมารภัจจ์ เดินผ่านมาตรงนั้น อาจารย์จึงเชิญเข้าไปปรึกษาวิธีที่จะรักษาและให้เขียดตัวนั้นออก หมอชีวกโกมารภัจจ์ ให้หาภาชนะปากกว้างใส่น้ำให้เต็มเปี่ยมนำไปล่อเขียดตัวนั้น เมื่อเขียดเห็นภาชนะใส่น้ำนั้นเข้า มันก็ค่อยๆ ออกมาแต่โดยดี มิได้ทำอันตรายแก่ประสาทในสมองนั้นแต่ประการใด เมื่อเขียดออกมาแล้ว ก็ชำระล้างบาดแผลให้สะอาดแล้วทำการตัดผ่ากระโหลกศีระษะของคนป่วยนั้น แล้วใส่ยารักษาต่อไป ทำให้ชายผู้นั้นรอดตายไปได้ ท่านอาจารย์เห็นว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์มีไหวพริบดีและมีความสามารถเป็นที่ไว้วางใจได้ จึงได้มอบเครื่องมือผ่าตัดให้เป็นรางวัลไปชุดหนึ่ง และสั่งให้สอนศิษย์ต่อไป ส่วนตัวท่านอาจารย์ไปรับเชิญให้ไปสอนวิชาแพทย์ที่เมืองจีนต่อไป นานของหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้น ต่อมาในภายหลังเลื่อนมาเป็นกุมารแพทย์ จะเลื่อนมาได้อย่างไรไม่ปรากฏตามตำนาน
วิชาแพทย์ได้มีความรู้ และมีเครื่องมือผ่าตัดมาแต่โบราณแล้ว หาได้มามีขึ้นภายหลังนี้ไม่ปรากฏตามตำนานที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น
ทั้งนี้ขอให้แพทย์ทั้งหลายจงทราบไว้ เพื่อประดับสติปัญญาต่อไป
วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็นหรือฝากรูปภาพด้วยสำนึกความเป็นมนุษย์ที่ดี
และโปรดปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ขอบคุณมากครับ